วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

นานาวิธีสอน

การศึกษา : นานาวิธีสอน

ความหมายของการศึกษา
ยัง ยัคส์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ว่า การศึกษา
คือ การปรับปรุงคนให้เหมาะกับ โอกาสและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรืออาจกล่าวได้ว่า
การศึกษาคือการนำความสามารถในตัวบุคคลมาใช้ให้เกิดประโยชน์
โจฮัน เฟรดเดอริค แฮร์บาร์ต (John Friedich Herbart) ให้ความหมายของการศึกษาว่า
การศึกษาคือ การทำพลเมืองให้มีความประพฤติดี และมีอุปนิสัยที่ดีงาม
เฟรด ดเอริค เฟรอเบล (Friedrich Froebel) การศึกษา หมายถึง การพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กเพื่อให้เด็กพัฒนาตนเอง
จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้หลายความหมาย คือ
1. การศึกษาคือชีวิต ไม่ใช่เตรียมตัวเพื่อชีวิต
2. การศึกษาคือความเจริญงอกงาม
3. การศึกษาคือกระบวนการทางสังคม
4. การศึกษาคือการสร้างประสบการณ์แก่ชีวิต
คาร์เตอร์ วี. กู๊ด (Carter V. Good) ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ 3 ความหมาย คือ
1. การศึกษาหมายถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่บุคคลนำมาใช้ในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ เจตคติ ความประพฤติที่ดีมีคุณค่า และมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม
2. การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคมที่ทำให้บุคคลได้รับความรู้ความสามารถจากสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนจัดขึ้น
3. การศึกษาหมายถึงการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระเบียบให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา
ม.ล.ปิ่น มาลากุล การศึกษาเป็นเครื่องหมายที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามในตัวบุคคล
ดร. สาโช บัวศรี การศึกษา หมายถึง การพัฒนาบุคคลและสังคมที่ทำให้คนได้มีการเรียนรู้ และพัฒนาขึ้นไปสู่ความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
สรุป การศึกษา เป็นกระบวนการให้ส่งเสริมให้บุคคลเจริญเติบโตและมีความเจริญงอกงามทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาจนเป็นสมาชิกของสังคมที่มีคุณธรรมสูง

การเรียนรู้ (Learning)
1. หมายถึง กระบวนการที่ประสบการณ์ตรงและประสบการณ์ทางอ้อมกระทำให้อินทรีย์ เกิดการเลี่ยนแปลง
2. หมายถึง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อันเนื่องมาจากได้รับประสบการณ์ (Experience)
ประสบการณ์ (Experience) คือ การที่บุคคลใช้ประสาทสัมผัสปะทะ (Interaction) กับสิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งประกอบด้วย สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางสังคม (มนุษย์ด้วยกัน) และสิ่งแวดล้อมทางขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่บุคคลปะทะแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขึ้น
ปกติสภาพแวดล้อมมีทั้งดีและไม่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดีจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดี
ในทางตรงข้ามถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางไม่ดี ทั้งนี้เมื่อพันธุกรรมเป็นตังคงที่ ดังนั้นถ้าต้องการให้บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางดี (การศึกษา – เจริญงอกงาม)
จึงไม่อาจปล่อยให้บุคคลไปปะทะกับสิ่งแวดล้อมโดยอิสระ จำเป็นต้องจัดสถานการณ์เฉพาะให้บุคคลปะทะถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี และนี่คือที่มาของ การจัดการศึกษา ในการจัดการศึกษา
จุดมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อให้มี การสอน ที่ถูกต้องชัดเจน
ความหมายของการสอน
- การสอน หมายถึง การถ่ายทอดความรู้
- การสอน หมายถึง การจัดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
- การสอน หมายถึง การฝึกให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ
- การสอน หมายถึง การแนะแนวทางแก่ผู้เรียนเพื่อให้ศึกษาหาความรู้
- การสอน หมายถึง การสร้างหรือการจัดสถานการณ์เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
- การสอน หมายถึง กระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความคิดที่จะนำความรู้ไปใช้เกิดทักษะหรือความชำนาญที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
- การสอน หมายถึง การจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้นักเรียนได้ปะทะเพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น การสอนจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจริญงอกงาม

ระบบการเรียนการสอน
ระบบการเรียนการสอน มีองค์ประกอบที่เป็นตัวป้อน กระบวนการ และ ผลผลิต
1. ตัวป้อน ได้แก่ ครู หรือ ผู้สอน ผู้เรียน หลักสูตร สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ วัสดุอุปกรณ์
2. กระบวนการ ได้แก่ การดำเนินการสอน การตรวจสอบความรู้พื้นฐาน การสร้างความพร้อมในการเรียน การใช้เทคนิคการสอนต่าง ๆ
3. ผลผลิต ได้แก่ ผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย

จุดประสงค์การเรียนการสอน
ความหมายของจุดประสงค์การเรียนการสอน
จุดประสงค์การเรียนการสอน คือข้อความที่ระบุคุณลักษณะการเรียนรู้และความสามารถที่ครูต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน หลังจากที่นักเรียนได้ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนในบทหนึ่ง ๆ แล้ว ความสำคัญของจุดประสงค์การเรียนการสอน
จุดประสงค์การเรียนการสอนเป็นจุดหมายปลายทางของการเรียนการสอนที่ได้แนวทางมาจากความคิดรวบยอดการเรียนการสอน เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนและการวัดผลการสอน จุดประสงค์การเรียนการสอนย่อมแสดงว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้ แบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ
1. จุดประสงค์ทั่วไป เป็นจุดประสงค์ที่มีความหมายกว้างไม่เฉพาะเจาะจง และเป็นจุดประสงค์ที่ตั้งขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง เช่น เพื่อให้มีนิสัยใฝ่หาความรู้ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมไทย
2. จุดประสงค์เฉพาะ เป็นจุดประสงค์ที่มีเฉพาะเจาะจง และเป็นจุดที่ตั้งขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง เช่น นักเรียนสามารถเขียนแผนภูมิแท่งได้ นักเรียนสามารถวาดภาพได้จุดประสงค์เฉพาะจะชี้ให้เห็นสิ่งที่ต้องการจากการศึกษาอย่างเจาะจงและเกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง นอกจากนี้ จุดประสงค์ยังอาจแบ่งได้ตามลักษณะการเรียนรู้ได้เป็น 3 ด้าน

การจำแนกประเภทของจุดประสงค์ทางการศึกษาของ บลูม และคณะ
บลูม (Benjamin S. Bloom) และ คณะ ได้จำแนกจุดประสงค์ทางการศึกษา (Taxonomy of Education Objects) ออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือด้านสติปัญญา หรือด้านความรู้และการคิดประกอบด้วยความรู้ความจำเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ การนำเอาสิ่งที่เป็นความรู้ความจำไปทำความเข้าใจ นำไปใช้ การใช้ความคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า
2. ด้านจิตพิสัย (Effective Domain) หรือด้านอารมณ์ – จิตใจ ความสนใจ เจตคติ ค่านิยม และคุณธรรม เช่น การเห็นคุณค่า การรับรู้ การตอบสนอง และการสร้างคุณค่าในเรื่องที่ตนรับรู้นั้น แล้วนำเอาสิ่งที่มีคุณค่านั้นมาจัดระบบและสร้างเป็นลักษณะนิสัย
3. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หรือด้านทักษะทางกาย หรือด้านการปฏิบัติ ประกอบด้วยทักษะการเคลื่อนไหว และการใช้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การเลียนแบบ การทำตามคำบอก การทำอย่างถูกต้องเหมาะสม การทำได้ถูกต้องหลายรูปแบบ การทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ

จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม คือ จุดประสงค์ของการเรียนการสอนที่บอกให้ทราบว่า หลังจากจบบทเรียนนั้น ๆ แล้ว ผู้เรียนสามารถแสดงพฤติกรรมที่วัดได้ สังเกตได้ ออกมาอย่างไรบ้าง
หลักทั่วไปในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. เขียนสั้น ๆ ให้ได้ใจความ ควรมีความยาวหนึ่งหรือสองประโยคเท่านั้น
2. ระบุพฤติกรรมที่คาดว่าจะเกิดเพียงหนึ่งพฤติกรรม
3. ระบุพฤติกรรมปลายทางที่คาดว่าจะเกิด
4. เป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สิ่งที่เป็นนามธรรม
ลักษณะการสอนที่ดี
การสอนที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้
1. มีการส่งเสริมนักเรียนให้เรียนด้วยการกระทำ การได้ลงมือทำจริง ให้ประสบการณ์ที่มีความหมาย
2. มีการส่งเสริมนักเรียนให้เรียนด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การทำงานร่วมกับผู้อื่น
3. มีการตอบสนองความต้องการของนักเรียน เรียนด้วยความสุข ความสนใจ กระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
4. มีการสอนให้สัมพันธ์ระหว่างวิชาที่เรียนกับวิชาอื่น ๆ ในหลักสูตรเป็นอย่างดี
5. มีการใช้สื่อการสอน จำพวกโสตทัศนวัสดุ เพื่อเร้าความสนใจ ช่วย ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น
6. มีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเร้าความสนใจ ผู้เรียนสนุกสนาน ได้ลงมือปฏิบัติจริง และดูผลการปฏิบัติของตนเอง
7. มีการส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ ด้วยการซักถาม หรือให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาง่าย ๆ เด็กคิดหาเหตุผลเปรียบเทียบ และพิจารณาความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ
8. มีการส่งเสริมความคิดริเริ่ม และความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมการคิดทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีมีประโยชน์ไม่เลียนแบบใคร ส่งเสริมกิจกรรมสุนทรียภาพ ร้อยกรอง วาดภาพ และแสดงละคร
9. มีการใช้การจูงใจ ในระหว่างเรียน เช่น รางวัล การชมเชย คะแนนแข่งขัน เครื่องเชิดชูเกียรติ การลงโทษ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสนใจ ตั้งใจ ขยันหมั่นเพียรในการเรียนและทำกิจกรรม
10. มีการส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแบบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยกย่องความคิดเห็นที่ดี นักเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนร่วมกับครู
11. มีการเร้าความสนใจก่อนลงมือทำการสอนเสมอ
12. มีการประเมินผลตลอกเวลา โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสังเกต การซักถาม การทดสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าการสอนของครูตรงตามจุดประสงค์มากที่สุด

วิธีสอนแบบต่าง ๆ
ไม่สามารถกล่าวได้ว่า วิธีใดเป็นวิธีสอนที่ดีที่สุด เพราะการเรียนการสอนต้องขึ้นกับองค์ประกอบหลายประการ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องตัดสินใจเลือกวิธีสอนตามความเหมาะสมของสภาพที่เป็นอยู่ ควรนำเทคนิคต่าง ๆ มากระตุ้นและเร้าความสนใจของผู้เรียน โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับเนื้อหาและเวลาที่กำหนดให้
การเลือกวิธีสอน
- สอดคล้องกับจุดประสงค์ของบทเรียน เป็นวิธีที่มั่นใจว่าจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- สอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่จะสอนนั้น
- เหมาะสมกับเวลา สถานที่ และจำนวนผู้เรียนประเภทของวิธีสอน
1. วิธีสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher – Centered Method) ได้การสอนที่ครูเป็นผู้สอน ครูเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ครูจะเป็นผู้ตั้งจุดมุ่งหมาย ควบคุมเนื้อหา จัดกิจกรรม และวัดผล เป็นต้น วิธีสอนแบบนี้มีหลายวิธีได้แก่ วิธีสอนแบบบรรยาย วิธีสอนแบบสาธิต วิธีสอนโดยการทบทวน
2. ที่วิธีสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child - centered Method) ได้แก่วิธสอนทีให้นักเรียนได้มีโอกาสเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เป็นผู้วางแผนบทเรียน ดำเนินการค้นคว้าหาความรู้ ครูเป็นเพียงผู้แนะแนวไปสู่การค้นคว้า แนะนำสื่อการเรียนการสอนจนนักเรียนได้ความรู้ด้วยตนเอง ได้แก่ วิธีสอนแบบบูรณาการ วิธีสอนแบบทดลอง วิธีสอนแบบโครงการ วิธีสอนแบบศูนย์การเรียน วิธีสอนแบบสืบสวนสอบสวน วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำงาน วิธีสอนแบบอภิปราย วิธีสอนแบบหน่วย วิธีสอนแบบอุปนัย วิธีสอนแบบนิรนัย วิธีสอนแบบแสดงบทบาท วิธีสอนแบบวิทยาศาสตร์ วิธีสอนแบบผู้เรียนมีส่วนร่วม



วิธีสอนแบบขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจสี่ (ศ. ดร. สาโรช บัวศรี)
ขั้นตอนวิธีสอนแบบขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจสี่
1. ขั้นกำหนดปัญหา……… (ขั้นทุกข์)
- ศึกษาปัญหา
- กำหนดขอบเขตของปัญหาที่จะแก้
2. ขั้นตั้งสมมุติฐาน……….. (สมุทัย)
- พิจารณาสาเหตุของปัญหา
- จะต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุ
- พยายามทำอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงสาเหตุ
3. ขั้นการทดลองและเก็บข้อมูล….(นิโรธ)
- ทดลองใช้วิธีการต่าง ๆ
- ทดลองได้ผลประการใดบันทึกข้อมูลไว้
4. ขั้นสรุปข้อมูลและสรุปผล……. (มรรค)
- วิเคราะห์เปรียบเทียบ
- สรุปผลและแนวทางเพื่อปฏิบัติ

วิธีสอนแบบสาธิต
วิธีสอนแบบสาธิต หมายถึงวิธีสอนที่ครูมีหน้าที่ในการวางแผนการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการแสดงหรือการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการสังเกต การกระทำ หรือการแสดง และอาจเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมบ้าง
หลักการสอนแบบสาธิต
1. ครูต้องเตรียมบทเรียน และซ้อมการสาธิตมาเป็นอย่างดีก่อนสาธิตให้นักเรียนดู
2. ครูต้องมีจุดประสงค์ที่แน่นอนสำหรับการสาธิตทุกครั้ง และพยายามให้บรรลุจุดประสงค์
3. ครูต้องแสดงการสาธิตให้นักเรียนเห็นอย่างทั่วถึงกันทั้งชั้น
4. ครูต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ถูกต้องกับวิชานั้น ๆ
5. ต้องสาธิตเกี่ยวกับบทเรียน
ขั้นการสาธิต
1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการสาธิตให้ชัดเจน
2. เตรียมอุปกรณ์การสาธิต
3. เตรียมกระบวนการสาธิต เช่น เวลา ขั้นตอน การดำเนินการ การจบ
4. ทดลองสาธิต
5. จัดคู่มือสังเกตการสาธิต
6. สาธิตแล้ว นักเรียนควรได้สาธิตซ้ำ
7. ประเมินผลการสาธิต

วิธีสอนแบบเล่นปนเรียน
วิธีสอนแบบเล่นปนเรียน ……. (เฟรอเบล)
1. เหมาะสำหรับเด็กเล็ก ๆ อนุบาล ประถม
2. มุ่งที่จะนำเอาการไม่อยู่นิ่งของเด็กมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ความเจริญเติบโต
3. มักใช้กับบทเรียนที่ไม่เพ่งเล็งด้านปริมาณของเนื้อหา
4. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเล่นอย่างสนุกสนาน
5. มีจุดมุ่งมายให้เด็กเล่นในสิ่งที่เป็นคุณค่าทางการศึกษา ภายใต้การควบคุมของครู
6. ครูต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ในการเล่นของเด็ก

วิธีสอนแบบแก้ปัญหา
วิธีสอนแบบแก้ปัญหา จอห์น ดิวอี้ เป็นกระบวนการของนักวิทยาศาสตร์
ขั้นของการสอนแบบแก้ปัญหา
1. ขั้นตั้งปัญหา และทำความเข้าใจปัญหา
2. ขั้นแยกปัญหา และวางแผนแก้ปัญหา…แยกแยะปัญหาและแบ่งนักเรียนเป็นหมู่เพื่อรับปัญหาไปแก้
3. ขั้นลงมือแก้ปัญหา …(ค้นคว้า หาความรู้ และทดลอง)
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล…..(รวบรวมข้อมูลและรายงานผลหน้าชั้น)
5. ขั้นสรุปและประเมินผล ครูและเด็กช่วยกันนำผลงานที่ค้นคว้ามาสรุปเข้าด้วยกัน โดยเรียบเรียงเป็นเรื่องราวตามลำดับ

การสอนแบบโครงงาน (Project Design)
เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเองในด้านต่าง ๆ มาจากแนวคิดพื้นฐานของการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center) และการเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยมีการศึกษาหลักการ และวิธีเกี่ยวกับโครงงานที่เลือกศึกษา วิเคราะห์ วางแผนการทำงาน ลงมือทำงาน และปรับปรุง เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ ในกระบวนการเรียนการสอนได้ใช้ทักษะกระบวนการ สอดแทรกคุณธรรม ทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีครูเป็นผู้ชี้แนะ ให้คำปรึกษาตลอดเวลา เน้นฝึกคนให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
ประโยชน์ของการจัดทำโครงงาน
1. ทำงานตามความถนัด ความสนใจของตนเอง
2. ฝึกทักษะกระบวนการทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
3. สามารถวางแผนการทำงานเป็นระบบ
4. พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
5. ศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาจากการทำงาน
6. เป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในโครงงานที่ทำจริง ในกรณีที่ต้องนำแสดงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
ความหมายของโครงงาน โครงงาน หมายถึง การกำหนดรูปแบบในการทำงานอย่างเป็นระเบียบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงาน / ผลงานที่สัมพันธ์กับหลักสูตรและนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตจริง
ประเภทของโครงงาน แบ่งงออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ประเภทการศึกษาทดลอง เป็นการศึกษาเปรียบเทียบหรือพิสูจน์ความจริงตามหลัก
วิชาการอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือค้นหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่ต้องการรู้ เช่น แสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช, อาหารพื้นบ้านกับการเจริญเติบโตของไก่
2. ประเภทสำรวจข้อมูล เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนหรือพัฒนางาน หรือปรับปรุงงาน เช่น การสำรวจการขาดสารไอโอดีนในชุมชน, การสำรวจการเรียนต่อของเยาวชนอำเภอสำโรงทาบ ในปี 2542
3. ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการผลิตชิ้นงานใหม่ และศึกษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประโยชน์คุณค่าของชิ้นงานนั้น ๆ เช่น เครื่องฟักไข่, ระบบน้ำหยดเพื่องานเกษตรโดยใช้กระป๋องน้ำมันเครื่อง
4. ประเภทพัฒนาผลงาน เป็นการค้นคว้าหรือพัฒนาชิ้นงานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์นับจำนวนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์, การประดิษฐ์เครื่องโรยขนมจีน
บทบาทของผู้เรียนการสอนแบบโครงงาน (Project Design)
1. โครงงาน
2. ศึกษาข้อมูล
3. วิเคราะห์ข้อมูล
4. ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
5. เขียนโครงงานวางแผนการทำงาน
6. ปฏิบัติตามโครงงาน
7. ประเมินผลโครงงาน

การสอนแบบแก้ปัญหา
เป็นวิธีสอนแบบวิทยาศาสตร์ หมายถึงการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนพบปัญหา และคิดหาวิธีแก้ปัญหา โดยขั้นทั้ง 5 ของวิทยาศาสตร์
ขั้นของการสอนแบบแก้ปัญหา
1. กำหนดปัญหา
2. ขั้นแยกปัญหา
3. ขั้นลงมือแก้ปัญหา
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูลหรือรวบรวมข้อมูลเข้าด้วนกันและแสดงผล
5. ขั้นสรุปและประเมินผลหรือขั้นสรุปและนำไปใช้

วิธีสอนแบบอนุมาน
วิธีสอนแบบอนุมาน เป็นการสอนจากส่วนย่อยไปหาส่วนร่วม หรือสอนจากตัวอย่างแล้วสรุปเป็นกฎหรือหลัก เช่น การสอนสูตรต่าง ๆ ในวิชาคณิตศาสตร์

วิธีสอนแบบอุปมาน
วิธีสอนแบบอุปมาน เป็นการสอนตรงข้ามแบบอนุมาน คือให้เด็กเรียนรู้กฎหรือหลักความจริง แล้วจึงค้นคว้าข้อปลีกย่อย เช่น การสอนเรขาคณิต การสอนภาษาไทย ให้คำนิยาม แล้วจึงยกตัวอย่าง เป็นต้น

วิธีสอนแบบประชาธิปไตย
วิธีสอนแบบประชาธิปไตย เป็นวิธีการสอนที่ครูและนักเรียนร่วมกันวางแผน กะโครงการและตั้งจุดมุ่งหมายในกิจกรรม โดยนักเรียนมีสิทธิออกเสียงเลือกกิจกรรมที่เห็นว่าดีมีประโยชน์
ขั้นตอนการจัดกิจกรรม
1. นักเรียนคิดหาข้อเสนอแนะปรึกษาหารือกันระหว่างเพื่อน
2. ให้ความคิดเห็นแก่ครู
3. ร่างข้อเสนอแนะ
4. จัดวางแผน
5. ครูและนักเรียนวางแผนร่วมกัน
ประโยชน์
1. ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น
2. ฝึกการรู้จักสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ
3. กระบวนการกลุ่ม
6. ให้รู้จักตั้งปัญหา

วิธีสอนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning : PL)
วิธีสอนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning : PL) โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจเลือกบทเรียนที่ต้องการเรียนรู้ในลักษณะกลุ่ม หรือศึกษาด้วยตนเอง ผู้เรียนจะร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกขั้นตอน ฝึกปฏิบัติการวางแผนการทำกิจกรรม การเรียนรู้ร่วมกัน และทำรายงานผลการเรียนรู้
การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเป็นการให้ผู้เรียนค้นพบตนเอง เข้าใจความต้องการและทราบถึงระดับความสามารถของตนเอง ซึ่งจะเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้มากขึ้น
องค์ประกอบของ (Participatory Learning : PL)
1. ประสบการณ์ E1 (EXPERIENCE)
2. สะท้อนความคิด/ อภิปราย R&D (REFLECTION / DISCUSSION)
3. ความคิดรวบยอด C (CONCEPT)
4. ทดลอง/ ประยุกต์แนวคิด E2 (EXPERIMENTATION/ APPLICATION)
การเรียนการสอนแบบบูรณาการ (Integrated Learning)
หมายถึง แนวคิดและแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการศึกษากับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทั้งในด้านจุดมุ่งหมาย เนื้อหาการจัดกิจกรรม ตลอดจนการวัดผลประเมินผลโดยมรเป้าหมายสำคัญสูงสุด เพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต
เนื้อหาวิชาที่จัดต้องให้สัมพันธ์กับประสบการณ์และวิถีชีวิตจริงของผู้เรียนเพื่อให้ความรู้นั้น ๆ ไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์จริงได้ การเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นการส่งเสริมให้ผู้เรียนทำกิจกรรมร่วมกัน มีการใช้ประสบการณ์ตรงมาแก้ปัญหาการเรียนรู้ มีการสร้างสถานการณ์ที่เร้าความสนใจ และผู้เรียนจะหาทางสนองความสนใจของตนเองจากความคิดลงมือปฏิบัติเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ (อ่านรายละเอียด การสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ (chield center หน้าเมนูหลัก)

การเรียนรู้จากสภาพจริง (Authentic Learning)
การเรียนรู้จากสภาพจริง (Authentic Learning) การเรียนการสอนจะเน้นที่การปฏิบัติจริง การร่วมมือกันทำงาน การคิดอย่างมีจารณญาณ การแก้ปัญหา การฝึกทักษะต่าง ๆ ที่เป็นการสร้างทักษะชีวิตให้กับตนเอง
บทบาทของครู
1. ใช้ยุทธศาสตร์การสอนอย่างหลากหลาย
2. วางแผนการสอนและพัฒนาการเรียนการสอน
3. ให้ผุ้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ การกำหนดแนวทางการวัดผลและประเมินผลสภาพที่ปฏิบัติจริง
4. จัดการเรียนรู้ที่เน้นสภาพปัญหา สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ใช้ข้อมูลในการสังเคราะห์ อธิบาย สรุป เพื่อแก้ไขปัญหาที่สะท้อนถึงชีวิตจริง
5. ประเมินผลผู้เรียนที่การปฏิบัติเป็นสำคัญ เน้นพัฒนาการที่ปรากฏให้เห็น ดูคุณลักษณะและความสามารถของผู้เรียนโดยภาพรวม เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การบันทึกจากผู้เกี่ยวข้อง การใช้ข้อสอบเน้นการปฏิบัติจริง (Authentic Test) การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน (Port Folio)

การเรียนรู้อย่างมีความสุข
ผศ.กิติยวดี บุญซื่อ และคณะ ได้เสนอวิธีการเรียนรู้อย่างมีความสุขไว้ ดังนี้
องค์ประกอบการเรียนที่มีความสุข
1. เด็กแต่ละคนได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีหัวใจและสมอง
2. ครูให้ความเมตตาจริงใจและอ่อนโยนต่อเด็กทุกคนโดยทั่วถึง
3. เด็กเกิดความรักและความภูมิใจในตนเอง รู้จักปรับตัวได้ทุกที่ และทุกเวลา
4. เด็กแต่ละตนได้มีโอกาสเลือกเรียนตามความถนัดความสนใจของตนเอง
5. บทเรียนสนุก แปลกใหม่จูงใจให้ติดตามและเร้าใจให้อยากค้นหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง
6. สิ่งที่เรียนรู้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
7. สื่อเร้าใจและตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน
8. ประเมินพัฒนาการของเด็กโดยรวมไม่เน้นแต่ด้านวิชาการ
การสอนแบบวินเนทกา
การสอนแบบวินเนทกา เน้นความแตกต่างของเอกัตบุคคล มุ่งส่งเสริมความเจริญงอกงามรายบุคคล
การสอนแบบหน่วย
การสอนแบบหน่วย หมายถึง การสอนที่นำเนื้อหาวิชาหลายวิชามาสัมพันธกัน สร้างเป็นบทเรียนขึ้นใหม่ เรียกว่า หน่วย โดยไม่ถือขอบเขตของวิชาแต่ละวิชาเป็นสำคัญ แต่จะยึดความม่งหมายของหน่วยที่สอนนักเรียน การเรียนเช่นนี้เป็นไปตามความสามารถและความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่สอนตามจุดมุ่งหมายของแต่ละหน่วย เหมาะสำหรับเด็กประถม เพราะยังไม่ต้องการความเชี่ยวชาญวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ

การสอนแบบอภิปราย
หลักการสอนแบบอภิปราย (Discussion) คือ การสอนที่มีลักษณะ ดังนี้
1. ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน ความคิดเห็นที่เสนออาจได้จากประสบการณ์ การศึกษาค้นคว้า การพิจารณาไตร่ตรอง การวิเคราะห์
2. การเสนอความคิดเห็นจะไม่อยู่ในรูปการสรุปผลการประเมินสั้น ว่า ถูก – ผิด สำคัญ – ไม่สำคัญแต่เป็นความคิดที่เป็นคำชี้แจง โดยหลักเหตุผล มีหลักฐานสนับสนุน
3. ครูนักเรียนเตรียมการอภิปราย
4. ค้นคว้าหาความรู้
5. เตรียมสถานที่
6. ผู้อภิปรายแสดงความคิดเห็น
7. อภิปรายตรงประเด็น สุภาพ

วิธีสอนแบบบทบาทสมมุติ
วิธีสอนแบบบทบาทสมมุติ (Role Playing) คือ การสอนที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทในสถานการณ์ที่สมมุติขึ้น คือแสดงบทบาทที่กำหนดให้
บทบาทของครู
1. เตรียมบทเรียนไว้ล่วงหน้าว่าจะสอนเรื่องอะไร วิชาใด เนื้อหาอย่างไร
2. ผู้สอนคิดบทบาทสมมุติเป็นเรื่องเหมือนกรณีตัวอย่าง กำหนดตัวละครว่ามีกี่คน ใครบ้าง
3. เลือกผู้เรียนที่มีบุคลิกลักษณะคล้ายตัวละคร
4. กำหนดเวลาแสดงไม่ควรเกิน 10 – 15 นาที
5. เมื่อแสดงจบ ผู้สอนตั้งประเด็น ให้ผู้เรียนทุกคนคิด หรืออภิปราย

การสอนโดยสถานการณ์จำลอง (Simulation Gaming)
การสอนโดยสถานการณ์จำลอง (Simulation Gaming) คือการสอนที่ผู้สอนนำเอาสถานการณ์จริงมาจำลองไว้ในบทเรียน พยายามให้มีสภาพที่เหมือนจริงมากที่สุด

การสอนแบบค้นพบความรู้
การสอนแบบค้นพบความรู้ (Discovery) คือการสอนที่ผู้เรียนค้นพบคำตอบหรือความรู้ด้วยตนเองสิ่งที่ค้นพบนั้นมีผู้ค้นพบมาก่อนแล้วและผู้เรียนก็ค้นพบความรู้หรือคำตอบนั้นด้วยตนเอง ไม่ใช่รู้จากการบอกเล่าของคนอื่น หรือจากการอ่านคำตอบ ในการสอนจะใช้สถานการณ์ให้ผู้เรียนเผชิญกับปัญหา

การสอนแบบปฏิบัติการ (Laboratory)
การสอนแบบปฏิบัติการ (Laboratory) คือการสอนที่ให้ผู้เรียนกระทำกิจกรรมภายใต้การแนะนำช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยทำการทดลองปฏิบัติ ฝึกการใช้ทฤษฎีโดยผ่านการสังเกต การทดลอง

บทเรียนโมดูล (Module)
บทเรียนโมดูล (Module) คือบทเรียนหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาประกอบด้วยกิจกรรมและสื่อการเรียนต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้จามจุดประสงค์ของบทเรียน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ด้าน คือ
1. หลักการและเหตุผล
2. จุดประสงค์
3. การประเมินผลก่อนเรียน
4. กิจกรรมการเรียน
5. การประเมินผลหลังเรียน
ขั้นตอนการสร้างบทเรียนแบบโมดูล มี 11 ขั้นตอน
1. กำหนดเรื่องที่จะสร้างบทเรียน
2. เขียนหลักการและเหตุผล
3. กำหนดจุดประสงค์
4. สำรวจสื่อการเรียนและแหล่งศึกษาค้นคว้า
5. วิเคราะห์ภารกิจ ว่าจะให้รู้อะไร จุดประสงค์ กิจกรรม อะไร
6. งานที่จะให้ผู้เรียนทำ กำหนดกิจกรรมและสื่อการเรียน
7. สร้างเครื่องมือประเมินผล
8. ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ
9. ทดลองใช้กับกลุ่มเล็ก 5 – 10 คน เพื่อปรับปรุงแก้ไข
10. ทดลองใช้ในห้องเรียน เพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรง
11. พิมพ์ฉบับจริง แล้วนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย
กรวยประสบการณ์ (Cone Of Experience) เอ็ดการ์ เดล มี 11 ขั้น ได้แก่
11. วจนะลักษณ์ (Verbal Symbols) ได้แก่ คำบรรยาย ตำรา คู่มือ แบบฝึกหัด เอกสารสิ่งพิมพ์
10. ทัศนสัญลักษณ์ (Visual Symbols) ได้แก่ แผนที่ แผนภูมิ กราฟ โปสเตอร์ การ์ตูน แผนภาพ หรือไดอะแกรม
9. ภาพนิ่ง/ เสียง (Recording Radio Still Picture) ได้แก่ รูปภาพ สไลด์ ฟิล์มสตริป แผ่นใส แถบ/จานเสียง รายการวิทยุ สไลด์ประกอบเสียง
8. ภาพยนตร์ (Motion Picture)
7. โทรทัศน์ รายการโทรทัศน์สด Video
6. นิทรรศการ (Exhilbits)
5. การศึกษานอกสถานที่ ชุมชน โรงงาน
4. การสาธิต (Demonstration) ได้แก่ เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการสาธิต
3. นาฏการ (Dramatized Experience) การแสดงบทบาทสมมุติ ละคร หุ่น
2. ประสบการณ์จำลอง (Contrived Experience) ได้แก่ หุ่นจำลอง ของตัวอย่าง สถานการณ์สมมุติ
1. ประสบการณ์จริง (Direct purpose –Full Experience) ได้แก่ ของจริง ประสบการณ์จริง

การสอนแบบศูนย์การเรียน (Learning Center)
การสอนแบบศูนย์การเรียน (Learning Center) เป็นนวัตกรรมที่เน้นกิจกรรมการเรียนของผู้เรียนโดยแบ่งบทเรียนออกเป็น 4 – 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีสื่อการเรียนที่จัดไว้ในซองหรือในกล่องวางบนโต๊ะเป็นศูนย์กิจกรรม และแบ่งผู้เรียนตามศูนย์กิจกรรม กลุ่มละ 6 – 8 คน หมุนเวียนกันประกอบกิจกรรมตามศูนย์ต่าง ๆ แห่งละ 15 – 20 นาที จนครบทุกศูนย์ โดยใช้สื่อประสม (Multi Media) และกระบวนการกลุ่ม Group Process)

การเรียนเพื่อการรอบรู้ (Mastery Learning)
การเรียนเพื่อการรอบรู้ (Mastery Learning) เป็นวิธีจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งให้เกิดความเท่าเทียมกันในผลการศึกษา โดยยึดปรัชญาการสอนที่ว่า ภายใต้สภาพการสอนที่เหมาะสม นักเรียนทุกคนสามารถเรียนในเรื่องที่สอนนั้นได้ดี คือถ้าให้เวลาแก่นักเรียนแต่ละคนที่เขาต้องการเพื่อทำคะแนนให้ถึงเกณฑ์ และนักเรียนใช้เวลาในการเรียนอย่างจริงจังแล้ว นักเรียนจะสามารถทำคะแนนได้ถึงเกณฑ์

นิทรรศการ
วัตถุประสงค์ของนิทรรศการ มีดังนี้
1. ส่งเสริมความรับผิดชอบ
2. ส่งเสริมเสริมการทำงานร่วมกัน
3. ส่งเสริมทักษะการทำงาน
4. ส่งเสริมความคิดริเริ่ม ความสามารถในการแก้ปัญหา
5. ส่งเสริมความสนใจในการเรียน
6. ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียน

การศึกษานอกสถานที่
หลักการศึกษานอกสถานที่
1. จัดการศึกษานอกสถานที่ให้เป็นปกติ
2. จัดการศึกษาตามความสนใจ ความต้องการ
3. ควรเล่าประวัติสถานที่ที่จะไป
4. ชี้แจงวัตถุประสงค์
5. วางแผนโดยสำรวจสถานที่ที่จะไป
6. ประเมินผล
7. ประโยชน์ ได้รับประสบการณ์ตรงการสอนแบบสัมมนา (Seminar)
การสอนแบบสัมมนา (Seminar) คือการสอนที่มีลักษณะ ดังนี้
1. ผู้เรียนค้นคว้าให้ลึกซึ้ง แล้วมาเสนอเพื่ออภิปราย
2. เรื่องที่เสนอเพื่อสัมมนาอาจเป็นเรื่องเดียว หรือหลายเรื่องโดยเลือกตามความสนใจก็ได้
3. ในการศึกษาค้นคว้าอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีรวมกัน เช่น ศึกษาจากตำรา เอกสาร วารสาร ศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทำการทดลองหรือวิจัยศึกษาจากของจริง
ข้อดี
1. ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถในเสนอการคิดและโต้แย้งด้วยเหตุผล
2. ผู้เรียนทำกิจกรรมการเรียนอย่างจริงจัง จึงช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่คงทน
3. ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากแหล่งวิทยาการหลายแหล่ง รวมทั้งการเรียนรู้จากการอภิปราย
ข้อด้อย
1. เหมาะสำหรับกรณีที่มีผู้เรียนจำนวนไม่มาก ไม่เกิน 20 คน ถ้ามีมากจะลดประสิทธิภาพลง
2. ขณะที่มีการรายงาย ผู้ที่ไม่ได้รายงานถือเป็นช่วงพักสมอง หรือคิดถึงเรื่องที่ตนจะรายงาน ขาดความสนใจ
3. เนื้อหากว้างเกินไปจะไม่ได้เนื้อหาเท่าที่ควร แคบเกินไปทำให้การอภิปรายไม่กว้างขวาง